คณะกรรมาธิการการคมนาคม มีหน้าที่และอำนาจในการกระทำกิจการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการคมนาคมทั้งการจราจรทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ทางอวกาศ การขนส่งมวลชน การขนส่งสินค้า ระบบโลจิสติกส์ และการพาณิชย์นาวี
อัตลักษณ์ที่สำคัญของคณะกรรมาธิการการคมนาคม ชุดที่ 25 คือ การพิจารณาศึกษาผ่านการประชุมพิจารณาศึกษา การตั้งคณะอนุกรรมาธิการ การศึกษาดูงาน และการจัดสัมมนา ซึ่งมีการรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ อันเป็นประโยชน์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากภาคส่วนต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการเพื่อสืบหาข้อมูล ข้อเท็จจริง และหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยมีเรื่องพิจารณาที่สำคัญ ดังนี้
1. ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งทางบก
ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ อาทิ
1.1 ทางบก : การพิจารณาศึกษาการกระจายอำนาจและการถ่ายโอนถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รวมทั้งการศึกษาและแก้ไขปัญหารถรับจ้างสาธารณะ
1.2 ทางราง : การพิจาณาศึกษาและติดตามการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา)
แผนฟื้นฟูและการพัฒนากิจการการรถไฟแห่งประเทศไทย การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา และช่วงนครราชสีมา – หนองคาย
ตลอดจนแผนพัฒนาสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)
1.3 ทางน้ำ : การพิจารณาศึกษาการคมนาคมขนส่งทางน้ำทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการ การพัฒนาระบบโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางน้ำ
เพื่อพื้นที่เฉพาะ ตลอดจนเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว
1.4 ทางอากาศ : การพิจารณาศึกษาแผนพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาค
2. ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนและคมนาคม อาทิ การใช้ประโยชน์จากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน
การก้าวสู่ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ค.ศ. 2021 – 2030 เพื่อสานพลังลดเจ็บตายโดยให้เยาวชนไทยมีส่วนร่วม การประกาศแผนโลกสำหรับทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน
ค.ศ. 2021 – 2030 ตลอดจนการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนน และการศึกษาแนวทางการตรากฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีจราจร
3. พัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาการจราจรและขนส่ง โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
4. สนับสนุนการเยียวยาผู้ประกอบการขนส่งและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา
และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
สรุปผลงานของคณะกรรมาธิการการคมนาคม ชุดที่ 25 ประกอบด้วย ผลงานการประชุมพิจารณาศึกษา 79 ครั้ง การตั้งคณะอนุกรรมาธิการ 5 คณะ การศึกษาดูงานแบ่งเป็น การศึกษาดูงานในประเทศ 3 ครั้ง การศึกษาดูงานต่างประเทศ 3 ครั้ง การจัดสัมมนา 51 ครั้ง การพิจารณาญัตติตามที่สภาผู้แทนราษฎรมอบหมาย 2 เรื่อง และการเสนอรายงานผลการพิจารณาศึกษาไปยังสภาผู้แทนราษฎร 7 เรื่อง
จากผลการวิเคราะห์ประเด็นการพิจารณาในคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 พบว่า คณะกรรมาธิการได้ให้ความสำคัญกับการพิจารณาเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ และความปลอดภัยทางถนนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ สิ่งที่ควรคำนึงถึงในอนาคต คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับรูปแบบการเดินทางและการขนส่ง รวมถึงสังคมเมืองที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงวัย จึงมีข้อเสนอทิศทางการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการคมนาคม ชุดที่ 26 ดังนี้
1. สภาพโครงสร้างพื้นฐานกับการบูรณาการร่วมกันในการวางแผนพัฒนาเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ
2. ปัญหาการจราจร
3. ปัญหาความไม่เพียงพอของระบบสาธารณูปการ ตลอดจนไม่ครอบคลุมต่อการเดินทางของประชาชน
4. ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยต่อสังคมผู้สูงอายุและผู้พิการ ทั้งนี้ ในด้านความปลอดภัยทางถนน ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนน
เพื่อให้หน่วยงานผู้ปฏิบัติตามกฎหมายสามารถใช้บังคับกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม
5. การนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและขนส่ง