คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตร การพัฒนาการเกษตร การสหกรณ์ การพัฒนาการผลิต และการตลาด
กระบวนการทำงานตามกรอบหน้าที่และอำนาจ ของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 มีทั้งในรูปแบบการประชุมคณะกรรมาธิการทั้ง Onsite และ Online คณะอนุกรรมาธิการ การจัดสัมมนาทางวิชาการ การศึกษาดูงาน และพิจารณาข้อร้องเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนต่าง ๆ ของเกษตรกร โดยมีขอบเขตงานที่สำคัญ คือ
1. ลดความเหลื่อมล้ำของเกษตรกร
โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการกระจายการใช้ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรที่ดิน และการเข้าถึงทรัพยากรทางด้านการเกษตร
การพัฒนาภาคการเกษตรให้เหมาะสมกับศักยภาพของเกษตรกร ฐานทรัพยากร และบริบทของพื้นที่
2. ยกระดับผลิตภาพการผลิตสินค้าเกษตร และผลผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
3. เพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของภาคการเกษตร โดยส่งเสริมการวิจัย พัฒนาและใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรสมัยใหม่ในการผลิต
ทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยว รวมทั้งกระบวนการแปรรูปเพื่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตตลอดห่วงโซ่การผลิต
4. เสริมสร้างศักยภาพการรวมกลุ่มเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร ให้เป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่มูลค่าของภาคการเกษตร
โดยอาศัยแนวคิดและกระบวนการสหกรณ์เป็นพื้นฐานในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบคลุมเกษตรกรในทุกพื้นที่ และขยายผลเชื่อมโยงเครือข่ายระบบ
การผลิต การตลาด และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
5. ส่งเสริมและเร่งขยายผลแนวคิดการทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยส่งเสริมขยายผลและพัฒนาการผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน
ทั้งในรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ รวมถึงควบคุมการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด
สรุปผลงานของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์
สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ประกอบด้วย การประชุมเพื่อพิจารณาประเด็นต่าง ๆ จำนวน 93 ครั้ง
ผลงานด้านการจัดสัมมนาทางวิชาการเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ประมาณ 10,000 คน
โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมให้ข้อมูล และแก้ไขปัญหาร่วมกับคณะกรรมาธิการ จำนวน 46 หน่วยงาน ผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียน จำนวน 119 เรื่อง
และผลงานการตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา จำนวน 4 คณะ ประกอบด้วย
(1) คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาการปศุสัตว์
(2) คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งกระทรวงการข้าว
(3) คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน และ
(4) คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาประมงไทย
จากผลการวิเคราะห์ประเด็นที่พิจารณา และเรื่องร้องเรียนในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ซึ่งได้กำหนดทิศทางในการพัฒนาด้านการเกษตรและสหกรณ์ที่คณะกรรมาธิการให้ความสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่ (1) สถานการณ์ด้านการเกษตรและสหกรณ์ (2) เรื่องร้องเรียนของเกษตรกร และ (3) การศึกษาที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตร การพัฒนาการเกษตร การสหกรณ์ การพัฒนาการผลิต และการตลาด
ทิศทางประกอบการพิจารณา ของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26
จึงควรพิจารณาประเด็นต่าง ๆ อย่างรอบด้าน โดยมีข้อพิจารณา ดังนี้
1. สภาพปัญหาด้านการเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบัน
1.1 สถานการณ์ด้านการเกษตรและสหกรณ์ (Hot Issue)
1.2 สภาพปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตร การพัฒนาการเกษตร การสหกรณ์ การพัฒนาการผลิต และการตลาด
2. แนวทางการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ในอนาคต
2.1 พัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ให้เหมาะสมกับศักยภาพของเกษตรกรเพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคในการเข้าถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดห่วงโซ่คุณค่า
2.2 สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อพัฒนาการเกษตรให้มีคุณภาพสูง ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มผลผลิตทั้งเชิงปริมาณและยกระดับการสร้างมูลค่าทางการเกษตร
3. แนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค ด้านการเกษตรและสหกรณ์ที่เกิดจากกฎหมาย และติดตามผลการดำเนินนโยบายและแผนด้านการเกษตรและสหกรณ์