คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา

คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา มีหน้าที่ และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการค้า การส่งออก ดุลการค้า ลิขสิทธิ์ ตราสาร ทะเบียน การประดิษฐ์หรือการค้นคิด เพื่อให้เกิดความรู้ใหม่ การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น และภูมิปัญญาไทย รวมทั้งการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยในการดำเนินภารกิจของคณะกรรมาธิการแบ่งเป็น ดังนี้

1. การดำเนินงานด้านการประชุม คณะกรรมาธิการได้มีการประชุมจนถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นจำนวน 96 ครั้ง โดยมีเรื่องที่คณะกรรมาธิการได้หยิบยกมาพิจารณา เนื่องจากเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนในวงกว้าง เช่น
- ปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาแพง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการค้าภายในได้รับไปตรวจสอบว่าเป็นสินค้าควบคุมหรือไม่ และมีการจำหน่ายในราคาที่แตกต่างไปจากรายการตามที่ได้แจ้งไว้หรือไม่ เพื่อควบคุมราคาให้เป็นตามสมควร
- ปัญหาราคาสินค้าทางการเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มีราคาตกต่ำ ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกรมการค้าภายใน รับไปตรวจสอบและดำเนินการเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน
- ปัญหาความเดือดร้อนกรณีประชาชนถูกกล่าวหาว่าทำการละเมิดลิขสิทธิ์สินค้าอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งจากการประชุมดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการออกระเบียบและหลักเกณฑ์เพื่อให้ความรู้ และเพื่อมิให้เกิดการกระทำดังกล่าวอีก

2. การดำเนินงานด้านการเดินทางไปประชุมและศึกษาดูงาน คณะกรรมาธิการได้มีการเดินทางไปประชุมและศึกษาดูงานเพื่อรับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ เช่น
- การเดินทางไปศึกษาดูงาน เรื่องการส่งเสริมสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อัตลักษณ์สินค้าพื้นถิ่นเพื่อเพิ่มมูลค่าคุน้อยเกวียนน้อยขุขันธ์ ของชาวบ้านในอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยชาวบ้านได้นำต้นไผ่ที่มีอยู่ในพื้นที่มาจักสานเป็นคุน้อยเกวียนน้อย มาเป็นระยะเวลายาวนาน เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว และเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว คณะกรรมาธิการจึงได้ดำเนินการเพื่อให้มีการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ต่อไป
- การเดินทางไปประชุมและศึกษาดูงานเพื่อติดตามสถานการณ์การค้าชายแดน ของจังหวัดเชียงราย จังหวัดสงขลา จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรับทราบข้อมูลและผลักดันให้มีการส่งออกสินค้าจากไทยไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้มีมูลค้าเพิ่มขึ้น และมีการนำเข้าสินค้าเกษตร และสินค้าอื่น ๆ จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศ ผ่านด่านชายแดนในพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น จึงทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดและประเทศดีขึ้น

3. การดำเนินงานด้านการจัดสัมมนา การดำเนินการด้านการจัดสัมมนา คณะกรรมาธิการได้มีการจัดสัมมนาในพื้นที่ต่างจังหวัดในหลายจังหวัด เพื่อรับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง และระดมความคิดเห็นจากทั้งวิทยากร และผู้เข้าร่วมสัมมนา เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการสัมมนามาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ

ทิศทางประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา ชุดที่ 26

จากการวิเคราะห์ประเด็นที่คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา ชุดที่ 25 หยิบยกขึ้นมาพิจารณาศึกษาตามกรอบหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการ โดยได้ให้ความสำคัญกับปัญหาราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาแพงและไม่ตรงกับราคาตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ การควบรวมกิจการระหว่างบริษัทซีพีและเทสโก้โลตัส ซึ่งอาจทำให้เกิดการผูกขาดทางการค้า การส่งเสริมการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า และปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นการพิจารณาที่น่าสนใจ ซึ่งคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ควรหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. แนวทางการส่งเสริมการผลิตและส่งออกสินค้าฮาลาลสู่ตลาดโลก
2. แนวทางในการหาตลาดใหม่ในต่างประเทศเพื่อรองรับสินค้าทางการเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประเทศและเกษตรกร
3. แนวทางการส่งเสริมให้มีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
4. มาตรการในการป้องกันการผูกขาดทางการค้า รวมทั้งแนวทางในการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการแข่งขันการทางค้า
5. แนวทางในการส่งเสริมให้ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์โดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพื่อลดปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

คณะกรรมาธิการอื่นๆ