คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม และศึกษาผลกระทบ อันเกิดจากอุตสาหกรรม รวมทั้งแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการ จำนวน 79 ครั้ง และได้มีการเดินทางไปศึกษาดูงาน จำนวน 36 ครั้ง และการจัดสัมมนา จำนวน 47 ครั้ง รวมทั้งได้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้น จำนวน 7 คณะ เพื่อพิจารณาศึกษาและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศไทย โดยสามารถสรุปแนวทางการปฏิบัติงานตามภารกิจหน้าที่ในด้านต่าง ๆ ออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. การส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย และรับฟังข้อมูล ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการ เพื่อศึกษาแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมในด้านต่าง ๆ เช่น การขนส่งระบบราง การส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและเกษตรแปรรูป การส่งเสริมอุตสาหกรรมถุงมือยาง การส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน การส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และได้ส่งผลการพิจารณาศึกษาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป
2. การพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือรับผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรม เช่น ปัญหาโรงงานสร้างมลภาวะส่งกลิ่น ควัน น้ำเสีย รบกวนชุมชน กรณีปัญหาความเดือดร้อนจากปัญหามลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งประชาชนในพื้นที่รวมทั้งชุมชนโดยรอบได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นจากกระบวนการผลิตยางพารา ส่งผลกระทบต่อสุขลักษณะและการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นต้น ทั้งนี้ หลังจากคณะกรรมาธิการได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว จึงได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ ตรวจสอบการปรับปรุงแก้ไขของโรงงานโดยเฉพาะวันที่มีกระบวนการผลิตยาง เพื่อเป็นการติดตามตรวจสอบผลการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันกับอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งมีการสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ให้สามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม โดยการสร้างคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ ประชาชน และข้าราชการ เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาถือว่าประสบผลสำเร็จตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาอุตสาหกรรมนั้น ได้รับความพึงพอใจจากประชาชนผู้มาร้องเรียนและผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก เพระทำให้สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้สำเร็จลุล่วง โดยทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง
จากผลการวิเคราะห์ประเด็นที่พิจารณาในคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร
ชุดที่ 25 พบว่า คณะกรรมาธิการได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ โดยมุ่งเน้นการพิจารณาในประเด็นสำคัญ จำแนกได้เป็น 2 ประเด็น กล่าวคือ
1. ประเด็นเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรม
2. ประเด็นเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบ
และกำหนดให้มีการพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26
เป็นไปอย่างครอบคลุมในทุกมิติ กอปรกับปัจจุบันเป็นช่วงสถานการณ์การกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ซึ่งอาจส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในภาคการผลิตสูงขึ้นจากเดิม ทิศทางการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมในชุดถัดไป
จึงควรมุ่งเน้นพิจารณาเกี่ยวกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเดิมของไทย ที่มีความเข้มแข็งและเป็นจุดแข็งของประเทศ ให้เกิดความมั่นคงในการผลิตและภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว
และอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของประเทศในด้านต่าง ๆ ให้ครอบคลุมและผลักดันให้เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ อาทิ
(1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
(2) อุตสาหกรรมดิจิทัลและเศรษฐกิจ
(3) อุตสาหกรรมการแพทย์สุขภาพมูลค่าสูง และ
(4) อุตสาหกรรมขนส่งโลจิสติกส์
นอกจากนี้ การพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการ ควรเน้นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศไทย ให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ตลอดจนพิจารณาปรับปรุงกฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่ยังคงเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดแนวทางการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม