คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม

คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลทางการเกษตร ให้สามารถคุ้มต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรทุกประเภท และสามารถแข่งขันได้ในตลาดการค้า ตลอดจนมีความมั่นคงอย่างยั่งยืนในอาชีพ การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 จึงเป็นไปตามเจตนารมณ์ของสภาผู้แทนราษฎร ที่มุ่งส่งเสริมอาชีพเกษตรกรอันเป็นอาชีพหลักหนึ่งของคนไทย ให้สามารถดำรงชีพได้อย่างภาคภูมิ ตลอดจนมุ่นเน้นการแก้ไขปัญหาผลิตผลเกษตรกรรม ให้ครอบคลุมทั้งเรื่องพืชผลทางการเกษตร การประมง ปศุสัตว์ และป่าไม้

ได้มีการประชุม จำนวน 132 ครั้ง เพื่อพิจารณาศึกษาในเรื่องต่าง ๆ ตลอดจนรับเรื่องร้องเรียนจากเกษตรกรต่าง ๆ มาพิจารณา และได้จัดสัมมนาและศึกษาดูงานหลายครั้ง เพื่อให้เข้าถึงเกษตรกรทั่วประเทศ โดยมีขอบเขตงานที่สำคัญ คือ
1. สนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกร ทั้งการลดต้นทุนการผลิตด้วยการจัดหาเครื่องมือเกษตรที่มีประสิทธิภาพ การเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิต เช่น การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ให้เกษตรกรปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพที่ดินของตนเอง หรือการปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนต่อสภาพแวดล้อมและให้ผลผลิตมากขึ้น และการแปรรูปผลผลิตให้มีมูลค่าจำหน่ายสูงขึ้น
2. ผลักดันมาตรการเพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้เกษตรกร เช่น การส่งเสริมความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในด้านการประกันราคาสินค้าเกษตรให้เกษตรกรไม่ขาดทุน การช่วยจัดจำหน่ายสินค้า การอนุมัติเงินกู้หรือผ่อนผันการชำระหนี้และดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกร การสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ ตลอดจนการปรับปรุงกองทุนต่าง ๆ ให้ช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างรวดเร็ว
3. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจมากขึ้น และสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีร่วมกันได้ เช่น ผลักดันการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน และส่งเสริมแนวคิดเกษตรแปลงแบบใหญ่ เพื่อลดต้นทุนคงที่อย่างรถไถและให้สามารถรวมทุนกันเข้าถึงเครื่องมือที่ทันสมัยขึ้นได้
4. ส่งเสริมความรู้และการใช้ข้อมูลแก่เกษตรกร โดยจัดสัมมนาและเชิญวิทยากรมาให้ความรู้แก่เกษตรกร เช่น แนวทางการผลิตและบริหารจัดการพืชผลหรือสัตว์น้ำต่าง ๆ และส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ข้อมูล เช่น สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ การพยากรณ์อากาศหรือโรคระบาด มาประกอบการทำเกษตร
5. ขยายและป้องกันตลาดสินค้าเกษตร โดยประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อลดข้อจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตร ป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร และส่งเสริมตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศให้เกษตรกรและผู้ซื้อสามารถเชื่อมต่อกันได้ อาทิ เข้าพบเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาการส่งออกพืช ผัก และผลไม้ไทย ไปยังประเทศจีน ที่มีการปิดด่านจากมาตรการ Zero - COVID และเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อเจรจาความร่วมมือด้านการค้าและการเกษตรระหว่างประเทศ

ทิศทางประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26

จากการวิเคราะห์ประเด็นที่พิจารณาในคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 เห็นว่า คณะกรรมาธิการให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรมทั้งทางตรง โดยวิธีการแทรกแซงราคาจากรัฐ และทางอ้อมโดยวิธีการลดต้นทุนของเกษตรกร เช่น ราคาปุ๋ย หรือการขนส่งสินค้า ประเด็นเรื่องการแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และประเด็นเรื่องการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตร เช่น การผ่อนผันให้ผู้ประกอบการค้าจีนเข้ามาในประเทศเพื่อรับสินค้าเกษตร และการป้องปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร
อย่างไรก็ดี มีประเด็นพิจารณาที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการที่ศึกษาน้อยกว่าประเด็นอื่น เช่น การพัฒนาคุณภาพและการแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มความต้องการสินค้าจากตลาดต่างประเทศ และการวิเคราะห์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับผลิตผลเกษตรกรรมแต่ละชนิด

ทิศทางประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ควรมีการพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ อย่างครบถ้วนและสมดุล ดังนี้
1. การแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม
1.1 การพัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้าเกษตรไปจำหน่ายในต่างประเทศ โดยเฉพาะการขนส่งทางราง
1.2 การเสนอหรือแก้ไขกฎหมาย สนธิสัญญา เรื่องการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตร
1.3 การเสนอมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรระยะสั้นระหว่างการแก้ไขปัญหาในระยะยาว
2. การพัฒนาผลิตผลเกษตรกรรม
2.1 การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งการเพิ่มปริมาณหรือคุณภาพของผลผลิต หรือการลดต้นทุนการผลิต
2.2 การเสนอหรือแก้ไขกฎหมาย เพื่อส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเพื่อผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาใช้ในการเกษตร
3. การติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน

คณะกรรมาธิการอื่นๆ