คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน

คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการเงิน การคลัง การธนาคาร ตลาดการเงิน และสถาบันการเงินของประเทศ

อัตลักษณ์สำคัญของคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 คือ การศึกษาพิจารณาในรูปแบบการประชุมเพื่อพิจารณาประเด็นต่าง ๆ จำนวน 99 ครั้ง การจัดสัมมนา จำนวน 50 ครั้ง การศึกษาดูงาน จำนวน 33 ครั้ง รวมทั้งมีการตั้งอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา จำนวน 2 คณะ ได้แก่
(1) คณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลัง และ
(2) คณะอนุกรรมาธิการติดตามระบบการเงิน การคลัง และระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ คือ

1. การประชุมเกี่ยวกับการจัดตั้งและการบริหารงานสถาบันการเงินประชาชน ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคตามพระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. 2562 เพื่อส่งเสริมช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบ จนเป็นที่มาของการจัดทำร่างพระราชบัญญัติสถาบันการเงินชุมชน (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. 2562 และนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. การจัดสัมมนาโดยเน้นประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนเป็นสำคัญ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากหน่วยงานภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปไม่สามารถประกอบกิจการและประกอบอาชีพของตนเองได้ตามปกติ ส่งผลให้หน่วยงานภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปประสบปัญหาด้านรายได้และเงินทุนในการประกอบอาชีพอย่างมาก ประกอบกับสถานการณ์ในระดับโลกยังไม่มีความแน่นอนของการสิ้นสุดการระบาด ตลอดจนแนวโน้มในการดำเนินชีวิตแบบความปกติใหม่ (New Normal) อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่าง ๆ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลให้หน่วยงานภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป สามารถเตรียมความพร้อมในการดำเนินชีวิตภายใต้สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและเป็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยได้จัดสัมมนาประเด็นดังกล่าวในหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดสกลนคร และกรุงเทพมหานคร
3. การศึกษาดูงาน คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงิน และตลาดการเงิน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการค้าชายแดน เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของพื้นที่ต่าง ๆ สร้างประโยชน์จากความเชื่อมโยงกับฐานการผลิตหลักของประเทศ ดึงดูดการลงทุนจากในและต่างประเทศ และตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศในภาพรวม อันเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ดีขึ้น และเป็นแนวทางในการเชื่อมต่อด้านโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน

ทิศทางประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน ชุดที่ 26

จากผลการวิเคราะห์ประเด็นที่พิจารณาในคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงิน และตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 พบว่า คณะกรรมาธิการได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ โดยมีประเด็นที่คณะกรรมาธิการให้ความสำคัญในการพิจารณาเป็นอย่างมาก ซึ่งแสดงให้เห็นแนวโน้มและทิศทางการพิจารณาที่คณะกรรมาธิการให้ความสำคัญ 3 ลำดับแรก คือ
(1) การจัดเก็บภาษี
(2) การแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชน
(3) การพัฒนาการค้าชายแดน เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดจนดึงดูดการลงทุนจากในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามมีประเด็นที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการที่มีการศึกษาพิจารณาน้อยกว่าประเด็นอื่น ๆ คือ หนี้สาธารณะและภาระทางการคลังของประเทศ

ทิศทางประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 จึงควรพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ อย่างครบถ้วน และกระจายความถี่ของการพิจารณาอย่างสมดุล โดยมีข้อเสนอ ดังนี้

1. สถานการณ์ตลาดการเงิน การคลัง ในภาพรวมของประเทศไทยและต่างประเทศ
2. การติดตามผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน
3. แนวทางการดำเนินงานของสถาบันการเงิน การแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ตลอดจนการให้ความรู้ทางการเงินเพื่อสร้างวินัยให้กับประชาชน
4. สถานการณ์หนี้สาธารณะและภาระทางการคลังของประเทศ เพื่อให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ

คณะกรรมาธิการอื่นๆ